สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 199  การเลือกนั้นท่านให้ทำด้วยแสดงเจตนาแก่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง

วรรคสอง การชำระหนี้ได้เลือกทำเป็นอย่างใดแล้ว ท่านให้ถือว่าอย่างนั้นอย่างเดียว เป็นการชำระหนี้อันกำหนดให้กระทำแต่ต้นมา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4946/2538

ว.เป็นสามีธ.และเป็นบุตรของจำเลยว.และธ.ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์2 จำนวน คือหนี้เกิดจากการซื้อหุ้นและออกเช็คกับหนี้เงินกู้รวมเป็นเงิน 24,128,385 บาท โดยยอมรับผิดร่วมกัน จำเลยยินยอมให้ ว.นำที่ดินของจำเลยตามโฉนดที่พิพาทโอนชำระหนี้แก่โจทก์ต่อมาโจทก์แจ้งให้ ว.จัดการโอนทรัพย์สินตามสัญญาประนีประนอมยอมความแก่โจทก์ภายใน 15 วัน มิฉะนั้นจะใช้สิทธิดำเนินคดีตามกฎหมาย และ/หรือใช้สิทธิตามสัญญาประนีประนอมยอมความหักทรัพย์สินที่ไม่ชำระหนี้ออกไปและหาก ว.ม่ดำเนินการโจทก์ขอถือหนังสือฉบับดังกล่าวเป็นการแจ้งว่าโจทก์ขอตั้งผู้ตีราคาทรัพย์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ช.เป็นผู้ตีราคาและผู้ตีราคาได้ตีราคาทรัพย์ที่นำมาชำระหนี้ไม่ได้เป็นเงิน 2,930,000 บาทต่อมาโจทก์มีหนังสือแจ้งให้ ว.ดำเนินการดังที่แจ้งไว้อีกครั้ง แต่ ว.มิได้ดำเนินการแต่อย่างใด โจทก์จึงยื่นฟ้องว.และธ.เป็นคดีล้มละลาย โดยนำราคาทรัพย์สินตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่โจทก์ตีราคาเป็นเงิน 2,930,000 บาทเพราะไม่สามารถนำมาชำระหนี้ได้หักออกจากการชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ นำไปเป็นทุนทรัพย์ในการฟ้องและขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย ซึ่งศาลได้มีคำสั่งให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ในส่วนนี้ไปแล้ว ดังนี้ เมื่อทรัพย์สินที่ ว.และ ธ.นำมาทำสัญญาเพื่อโอนชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งได้แก่ที่ดินและบ้าน ที่ดินและที่พิพาทกับรถยนต์นั้น เมื่อสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์และ ว.กับส.ลูกหนี้ระบุไว้ว่า หากทรัพย์สินดังกล่าวรายใดไม่สามารถนำมาชำระหนี้ได้ก็ต้องหักออกไปตามราคาที่ตกลงกัน หากตกลงกันไม่ได้ก็ให้ผู้ตีราคาซึ่งโจทก์เป็นผู้ตั้งขึ้นมาตีราคา คำวินิจฉัยของผู้ตีราคาดังกล่าวให้เป็นที่สุด ซึ่งหมายความว่า เมื่อมีการตกลงราคาหรือตีราคาทรัพย์สินแล้ว ก็จะต้องนำไปหักออกจากยอดเงินที่ระบุไว้ในสัญญา และถือว่า ว.และธ.ยังค้างชำระหนี้โจทก์อยู่เป็นหนี้เงินตามจำนวนเงินที่มีการตกลงหรือตีราคาทรัพย์สินนั้นเมื่อปรากฏว่า หลังจากจำเลยปฏิเสธไม่ยอมโอนที่พิพาทแก่โจทก์แล้ว โจทก์มีหนังสือถึง ว.และธ.ขอให้ตีราคาที่พิพาทจนต่อมาได้มีการตั้งผู้ตีราคาและตีราคาที่พิพาท แล้วโจทก์นำราคาทรัพย์สินตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่โจทก์ตีราคาเพราะไม่สามารถนำมาชำระหนี้ได้ไปรวมกับยอดเงินที่โจทก์ฟ้องว.และธ. เป็นคดีล้มละลาย และศาลมีคำสั่งให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ในส่วนนี้ไปแล้ว ถือว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ได้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นจากลูกหนี้แทนการชำระหนี้โดยการรับโอนที่ดินพิพาทตามที่ได้ตกลงกันไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ ย่อมทำให้หนี้ของลูกหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่จะต้องโอนที่พิพาทแก่โจทก์เป็นอันระงับสิ้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 321 วรรคแรก จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ต้องโอนที่พิพาทชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความอีก การที่ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์สละสิทธิเรียกร้องให้มีการโอนที่พิพาทชำระหนี้ต่อไป และยกประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 198 และมาตรา 199 ขึ้นอ้างและปรับบทก็เพื่อวินิจฉัยให้เห็นว่าเมื่อโจทก์เลือกให้ว.และธ. ลูกหนี้โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความชำระหนี้เป็นเงินแทนการโอนที่พิพาทแก่โจทก์เข้าข้อยกเว้นของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 198แสดงว่าโจทก์สละสิทธิเรียกร้องให้โอนที่พิพาทแล้ว ย่อมถือได้ว่าการชำระหนี้เป็นเงินแก่โจทก์เพียงอย่างเดียวเป็นการชำระหนี้อันกำหนดให้กระทำแต่ต้นมาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 199 โจทก์จึงไม่อาจใช้สิทธิฟ้องจำเลยโอนที่พิพาทชำระหนี้แก่โจทก์อีก อันอยู่ในประเด็นที่ว่าจำเลยมีหน้าที่ต้องโอนที่พิพาทตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้แก่โจทก์หรือไม่

 

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2522 จำเลยซึ่งเป็นมารดาของนายวสุ จำลองศุภลักษณ์ ได้ตกลงกับโจทก์ นายวสุและนางธีระ จำลองศุภลักษณ์ ภริยาของนายวสุว่า จำเลยตกลงนำที่ดินซึ่งจำเลยเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์โฉนดเลขที่ 367มาโอนตีชำระหนี้ให้แก่โจทก์แทนนายวสุ และนางธีระซึ่งนายวสุและนางธีระได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ในวันเดียวกันยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์ 2 จำนวน คือหนี้ซึ่งเกิดจากการซื้อหุ้นและออกเช็คจำนวน 20,378,385 บาท และหนี้เงินกู้ยืมจำนวน3,750,000 บาท โดยตีราคาที่ดินดังกล่าวเป็นเงิน 1,350,000 บาทจำเลยได้มอบโฉนดที่ดินกับลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจตามแบบของกรมที่ดิน และได้มอบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนกับสำเนาทะเบียนบ้านของจำเลยให้โจทก์ไว้เพื่อดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินชำระหนี้ให้โจทก์ ต่อมานายวสุและนางธีระผิดสัญญาและผิดนัดไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์และจำเลยได้ไปติดต่อที่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาธนบุรี เพื่อโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวชำระหนี้แก่โจทก์ แต่ไม่สามารถดำเนินการได้เพราะจำเลยบิดพลิ้วไม่ยอมนำนายวสุกับนางธีระไปให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินตามระเบียบ ต่อมาจำเลยได้ขอยกเลิกหนังสือมอบอำนาจที่จำเลยทำไว้แก่โจทก์ต่อสำนักงานที่ดินอันเป็นการผิดข้อตกลงต่อโจทก์โจทก์ได้ติดตามทวงถามจำเลยตลอดมา แต่จำเลยไม่ยอมดำเนินการโอนที่ดินชำระหนี้ให้โจทก์ ที่ดินโฉนดเลขที่ 367 ดังกล่าวมีเนื้อที่ 880 ตารางวา คิดเป็นราคาที่ดินจำนวน 3,080,000 บาทขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 367ชำระหนี้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลย หากการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวทำไม่ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม ให้จำเลยใช้ราคาให้แก่โจทก์เป็นเงิน 3,080,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า สัญญาประนีประนอมยอมความตามฟ้องเป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์กับนายวสุและนางธีระไม่ผูกพันจำเลยเพราะจำเลยไม่ได้มีฐานะเป็นลูกหนี้ของโจทก์ ตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวระบุชัดแจ้งว่าหากทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ตามสัญญา รายใดไม่สามารถชำระหนี้ได้ก็ต้องหักออกไปตามราคาที่ตกลงกัน หากตกลงกันไม่ได้ให้ตีราคา โดยผู้ตีราคาซึ่งโจทก์จะเป็นผู้จัดตั้งขึ้น คำวินิจฉัยของผู้ตีราคาดังกล่าวให้เป็นเด็ดขาดถึงที่สุดปรากฏว่าทรัพย์สินของจำเลยระบุไว้ในสัญญาไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ตีราคาชำระหนี้แก่โจทก์ได้ เพราะก่อนชำระหนี้นายวสุและนางธีระลูกหนี้ไม่ยินยอมด้วยจำเลยในฐานะบุคคลภายนอกจึงไม่มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามสัญญาข้อนี้ต่อมาโจทก์ตั้งนายวีระชัย พิหเคนทร์ เป็นผู้ตีราคาที่ดินโฉนดเลขที่ 367 ของจำเลยแล้ว จึงถือว่าลูกหนี้ทั้งสองของโจทก์ไม่ได้ชำระหนี้ในส่วนดังกล่าวและเป็นหนี้เงินกับโจทก์อยู่ต่อไปซึ่งโจทก์ได้ฟ้องบังคับนายวสุและนางธีระเป็นคดีล้มละลายและศาลแพ่งได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ทั้งสองเด็ดขาดโจทก์ได้ยื่นขอรับชำระหนี้ดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า แม้จำเลยจะมิได้ลงชื่อ แต่การที่จำเลยยอมมอบโฉนดที่ดินของจำเลยซึ่งเป็นที่พิพาท หนังสือมอบอำนาจที่จำเลยลงชื่อไว้โดยยังไม่กรอกข้อความให้นายวสุซึ่งเป็นลูกหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความไปและต่อมาโจทก์และจำเลยได้ทำบันทึกต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่าโจทก์มีความประสงค์จะรับโอนพิพาทจากจำเลยเพื่อชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความจึงถือได้ว่าจำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกยอมชำระหนี้แทนลูกหนี้โดยลูกหนี้ได้ยินยอมและโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้แสดงเจตนาได้รับเอาการแสดงเจตนาดังกล่าวของจำเลยแล้วจำเลยจึงมีความผูกพันที่จะต้องโอนที่พิพาทแก่โจทก์ แต่การที่โจทก์ได้มีหนังสือถึงนางวสุในเวลาต่อมาแจ้งให้นายวสุจัดการโอนบ้านและที่ดินตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่พิพาทแก่โจทก์ภายใน 15 วันมิฉะนั้นโจทก์จะดำเนินคดีตามกฎหมายและ/หรือใช้สิทธิตามสัญญาหักทรัพย์สินที่ไม่สามารถนำมาชำระหนี้ได้ศูนย์ออกไป โดยให้นายวสุมาตกลงราคากับโจทก์ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาดังกล่าว หากนายวสุไม่ดำเนินการ โจทก์ขอถือเอาหนังสือดังกล่าวเป็นการชัดแจ้งว่าโจทก์ขอตั้งผู้ตีราคาทรัพย์สินตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยแต่งตั้งให้นายวีระชัยเป็นผู้ตีราคาและผู้ตีราคาได้ตีราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้นำมาหักชำระหนี้เป็นเงิน 2,930,000บาท แต่นายวสุมิได้ดำเนินการอย่างใด โจทก์จึงนำเอาหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความฟ้องนายวสุกับนางธีระเป็นคดีล้มละลายโดยหักราคาที่โจทก์ตีราคาที่พิพาทและทรัพย์สินที่ยังไม่ชำระราคาจำนวน 2,930,000 บาท นั้น เห็นว่า ตามสัญญา ข้อ 2.3เป็นข้อตกลงเกี่ยวแก่การอันมีกำหนดพึงกระทำเพื่อชำระหนี้มีหลายอย่างแต่จะต้องกระทำเพียงการใดการหนึ่งอย่างเดียวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 198 เมื่อโจทก์แสดงเจตนาที่จะเลือกให้ลูกหนี้ชำระหนี้จำนวนเงิน 2,930,000 บาท จึงถือว่าโจทก์ได้สละสิทธิที่จะเรียกร้องให้โอนที่พิพาทเพื่อชำระหนี้แล้วโจทก์จะย้อนมาใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยโอนที่พิพาทชำระหนี้แก่โจทก์ไม่ได้โจทก์มีสิทธิเพียงที่จะเรียกร้องให้นายวสุลูกหนี้ชำระหนี้เป็นจำนวนเงินตามที่โจทก์ตีราคาแล้วเท่านั้น จำเลยไม่มีหน้าที่จะต้องโอนที่พิพาทชำระหนี้แก่โจทก์ พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่านายวสุ จำลองศุภลักษณ์ เป็นสามีนางธีระ จำลองศุภลักษณ์และเป็นบุตรของจำเลย เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2522 นายวสุและนางธีระทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ว่า บุคคลทั้งสองยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์ คือหนี้เกิดจากการซื้อหุ้นและออกเช็คเป็นเงิน 20,375,385 บาท และหนี้เงินกู้เป็นเงิน 3,750,000 บาทรวมเป็นเงิน 24,128,385 บาท โดยยอมรับผิดร่วมกัน จำเลยยินยอมให้นายวสุนำที่ดินของจำเลยคือที่พิพาทตามโฉนดเลขที่ 367โอนชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับนายวสุและนางธีระข้อ 2.3.ง. เมื่อนายวสุและนางธีระผิดสัญญา จำเลยไม่ยอมโอนที่พิพาทแก่โจทก์ ต่อมาโจทก์มีหนังสือลงวันที่ 15 มกราคม 2525 แจ้งให้นายวสุจัดการโอนทรัพย์สินตามสัญญาประนีประนอมยอมความตั้งแต่ข้อ 2.3 ก.ถึงข้อ 2.3 ง. แก่โจทก์ภายใน 15 วัน มิฉะนั้นจะใช้สิทธิดำเนินคดีตามกฎหมาย และ/หรือใช้สิทธิตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 2.3 วรรคสอง หักทรัพย์สินที่ไม่ชำระหนี้ออกไป หากนายวสุไม่ดำเนินการโจทก์ขอถือหนังสือฉบับดังกล่าวเป็นการแจ้งว่าโจทก์ขอตั้งผู้ตีราคาทรัพย์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 2.3 วรรคสอง โดยแต่งตั้งนายวีระชัย พิหเคนทร์เป็นผู้ตีราคาและผู้ตีราคาได้ตีราคาทรัพย์ที่นำมาชำระหนี้ไม่ได้เป็นเงิน2,930,000 บาท ต่อมาโจทก์มีหนังสือแจ้งให้นายวสุดำเนินการดังที่แจ้งไว้อีกครั้งแต่นายวสุมิได้ดำเนินการแต่อย่างใดครั้นวันที่ 1 กรกฎาคม 2525 โจทก์จึงยื่นฟ้องนายวสุและนางธีระเป็นคดีล้มละลายโดยนำราคาทรัพย์สินตามข้อ 2.3 ก. ถึงข้อ 2.3 ง. ที่โจทก์ตีราคาเป็นเงิน 2,930,000 บาท เพราะไม่สามารถนำมาชำระหนี้ได้หักออกจากการชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ นำไปเป็นทุนทรัพย์ในการฟ้องและขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย ซึ่งศาลได้มีคำสั่งให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ในส่วนนี้ไปแล้ว

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกมีว่า จำเลยมีหน้าที่ต้องโอนที่พิพาทตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า ทรัพย์สินที่นายวสุและนางธีระนำมาทำสัญญาเพื่อโอนชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย จ.5 ข้อ 2.3 ซึ่งได้แก่ที่ดินและบ้านตามข้อ 2.3 ก. ที่ดินตามข้อ 2.3 ข. และ ค. ที่พิพาทตามข้อ 2.3 ง. และรถยนต์ตามข้อ 2.3 จ. นั้น ในวรรคสองของข้อ 2.3 ระบุไว้ว่า หากทรัพย์สินดังกล่าวรายใดไม่สามารถนำมาชำระหนี้ได้ก็ต้องหักออกไปตามราคาที่ตกลงกัน หากตกลงกันไม่ได้ก็ให้ผู้ตีราคาซึ่งโจทก์เป็นผู้ตั้งขึ้นมาตีราคา คำวินิจฉัยของผู้ตีราคาดังกล่าวให้เป็นที่สุดหมายความว่า เมื่อมีการตกลงราคาหรือตีราคาทรัพย์สินแล้ว ก็จะต้องนำไปหักออกจากยอดเงิน 3,000,000 บาท ที่ระบุไว้ในสัญญาข้อ 2.3 วรรคแรก และถือว่านายวสุ และนางธีระยังค้างชำระหนี้โจทก์อยู่เป็นหนี้เงินตามจำนวนเงินที่มีการตกลงหรือตีราคาทรัพย์สินนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า หลังจากจำเลยปฏิเสธไม่ยอมโอนที่พิพาทแก่โจทก์แล้ว โจทก์มีหนังสือถึงนายวสุและนางธีระขอให้ตีราคาที่พิพาท จนต่อมาได้มีการตั้งผู้ตีราคาและตีราคาที่พิพาท แล้วโจทก์นำราคาทรัพย์สินตามข้อ 2.3 ก.ถึงข้อ 2.3 ง. ที่โจทก์ตีราคาเป็นเงิน 2,930,000 บาท เพราะไม่สามารถนำมาชำระหนี้ได้ไปรวมกับยอดเงินที่โจทก์ฟ้องนายวสุและนางธีระเป็นคดีล้มละลาย และศาลมีคำสั่งให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ในส่วนนี้ไปแล้ว จึงต้องถือว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นจากลูกหนี้แทนการชำระหนี้โดยการรับโอนที่พิพาทตามที่ได้ตกลงกันไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความทำให้หนี้ของลูกหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่จะต้องโอนที่พิพาทแก่โจทก์เป็นอันระงับสิ้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 วรรคแรกเมื่อหนี้ของลูกหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ตามพฤติการณ์จำเลยอาสาเข้ารับชำระหนี้แทนระงับไปแล้วโดยประการอื่น จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ต้องโอนที่พิพาทชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ มิฉะนั้นแล้วโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของหนี้รายเดียวก็จะได้รับชำระหนี้ถึงสองครั้ง ซึ่งไม่เป็นธรรมแก่ฝ่ายลูกหนี้ กรณีมิใช่เรื่องที่ลูกหนี้ชำระหนี้ต่อบุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 376 ดังศาลอุทธรณ์ยกขึ้นปรับบทไว้

ปัญหาตามฎีกาของโจทก์ข้อต่อไปมีว่า ที่ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์สละสิทธิเรียกร้องให้มีการโอนที่พิพาทชำระหนี้ต่อไป และยกประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 198และมาตรา 199 ขึ้นอ้างในการวินิจฉัยคดีเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นหรือไม่นั้น เห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นยกข้อเท็จจริงและบทกฎหมายดังกล่าวขึ้นอ้างและปรับบทก็เพื่อวินิจฉัยให้เห็นว่าเมื่อโจทก์เลือกให้นายวสุและนางธีระลูกหนี้โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความชำระหนี้เป็นเงินแทนการโอนที่พิพาทแก่โจทก์ ซึ่งเข้าข้อยกเว้นของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 198 ก็แสดงว่าโจทก์สละสิทธิเรียกร้องให้โอนที่พิพาทแล้วย่อมถือได้ว่าการชำระหนี้เป็นเงินแก่โจทก์เพียงอย่างเดียวเป็นการชำระหนี้อันกำหนดให้กระทำแต่ต้นมา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 199 โจทก์จึงไม่อาจใช้สิทธิฟ้องให้จำเลยโอนที่พิพาทชำระหนี้แก่โจทก์อีก อันอยู่ในประเด็นที่ว่าจำเลยมีหน้าที่ต้องโอนที่พิพาทตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้แก่โจทก์หรือไม่นั่นเอง การวินิจฉัยของศาลชั้นต้นจึงไม่นอกประเด็น

พิพากษายืน

บทความที่น่าสนใจ

-การด่าตำรวจจราจรว่ารับสินบนจะมีผิดความหรือไม่

-ด่ากันทางโทรศัพท์

-ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหายมีความผิดต้องโทษจำคุก

-การปลอมเป็นเอกสารจำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงหรือไม

-การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

-เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น

-ซื้อที่ดินในหมู่บ้านจัดสรร แล้วไปซื้อที่ดินข้างนอกที่ติดกับหมู่บ้าน
เพื่อเชื่อมที่ดินดังกล่าวเข้ากับที่ดินในหมู่บ้าน

-ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร

-ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม

-ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้

-การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน

-เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร